วัตถุมงคล วัดอุทัยธาราม


พระปิดตา วัดบางกะปิ
สร้างขึ้นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา
โดยหลวงตายุ้ย



วันที่ 16 พฤษภาคม พ.ศ. 2554 ปีที่ 21 ฉบับที่ 7473 จาก นสพ.ข่าวสดรายวัน

วัดบางกะปิ หรือวัดอุทัยธาราม ตั้งอยู่ข้างถนนเพชรบุรีตัดใหม่ เลยสี่แยกอโศกไปเล็กน้อย นับเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่งในกรุงเทพมหานคร จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์และโบราณวัตถุภายในวัด สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างในราวต้นๆ สมัยกรุงรัตนโกสินทร์ วัตถุมงคลของวัดที่สร้างชื่อเสียงเป็นที่เลื่องลือ โดยเฉพาะนักเล่นพระและผู้ที่อยู่ในแวดวงนักนิยมสะสมพระเครื่องส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี ก็คือ พระกรุเนื้อตะกั่วสนิมแดง รูปทรงสามเหลี่ยม ซึ่งมีลักษณะคล้ายๆ กับพระวัดสามปลื้ม และพระปิดตา ซึ่งมีพุทธคุณยอดเยี่ยมเป็นที่ปรากฏ ฉบับนี้มาคุยเรื่อง "พระปิดตา" กันครับผม

พระปิดตา วัดบางกะปิ สร้างขึ้นในช่วงสงครามมหาเอเชียบูรพา โดยหลวงตายุ้ย ซึ่งขณะนั้นเป็นพระลูกวัดแก่ๆ ไม่มียศถาบรรดาศักดิ์ แต่ท่านชอบธุดงควัตรไปตามสถานที่ต่างๆ ไกลถึงประเทศพม่า ซึ่งในสมัยนั้นนับว่าการเดินทางยากลำบากและทุรกันดารมาก ถ้าไม่เก่งจริงๆ คงไปไม่ถึงหรือไม่ได้กลับมาเป็นแน่

หลวงตายุ้ยต้องการมีส่วนช่วยประเทศชาติ ด้วยการสร้าง "พระปิดตา" ขึ้น เพื่อแจกจ่ายแก่ทหารที่ออกรบ โดยรวบรวมเศษทองเหลือง ฝาบาตร ขัน โถเก่าๆ ฯลฯ แล้วนำมาหลอม ลงอักขระเลขยันต์ ปลุกเสกด้วยตัวท่านเองโดยตลอด ซึ่งช่วงเวลาเดียวกันนั้น บรรดาพระเกจิอาจารย์ชื่อดังในยุคนั้นหลายๆ วัด ก็ได้จัดสร้างวัตถุมงคลและเครื่องรางของขลังเพื่อแจกจ่ายแก่ศิษยานุศิษย์และผู้ออกศึกสงคราม เพื่อเป็นเครื่องยึดเหนี่ยวและเป็นกำลังใจให้เชื่อมั่นในพุทธคุณเช่นกัน มีอาทิ หลวงพ่อพริ้ง หลวงพ่อจาด และหลวงพ่อเดิม เป็นต้น

การศึกสงครามในครั้งนั้น นอกจากวัตถุมงคลที่สร้างโดยพระเกจิอาจารย์ชื่อดังจะปรากฏพุทธคุณเข้มขลังแล้ว "พระปิดตา วัดบางกะปิ" ของหลวงตายุ้ย ก็ได้สร้างประสบ การณ์ให้เป็นที่ปรากฏในด้านอยู่ยงคงกระพันและแคล้วคลาดจากภยันตรายจนเป็นที่กล่าวขานด้วยเช่นกัน แต่ด้วยพุทธลักษณะขององค์พระไม่ใคร่จะงดงามต้องตานัก จึงไม่ค่อยเป็นที่นิยมสะสมเท่าไรนัก

พระปิดตา วัดบางกะปิ ลักษณะเป็นพระเนื้อทองเหลือง ทรงชะลูด หล่อแบบลอยองค์ หูในตัว พิมพ์ด้านหน้า มีพระหัตถ์ 3 คู่ คู่แรก ปิดพระพักตร์ จะปรากฏนิ้วพระหัตถ์เป็นเส้นอยู่ในที คู่ที่ 2 ยกขึ้นปิดพระกรรณ และ คู่ที่ 3 ปิดทวารช่วงกลางพระเพลา กลางพระอุระมีตัว "อุณาโลม" เป็นเส้นนูน ส่วนพิมพ์ด้านหลังเว้าเป็นทรงตามพระวรกาย ตรงกลางมีอักขระขอมอ่านว่า "อ ร หัง" บนเศียรทำเป็นห่วงกลม ปลายห่วงทั้ง 2 ข้าง มีรอยติดหุ่นเทียนเป็นปากปลิง

ถ้าพิจารณาตามลักษณะการหล่อ พระปิดตา วัดบางกะปิ เป็นการหล่อในแบบ "พิมพ์ประกับ" คือ องค์พระจะมีตะเข็บด้านข้างทั้ง 2 ข้าง และมีรอยตัดชนวนที่ก้นทุกองค์ นอกจากนี้ ให้สังเกตที่เนื้อขององค์พระ ถ้าไม่ผ่านการใช้หรือสัมผัสจะเป็นประกายทองเหลืองอร่าม แต่ถ้าผ่านการใช้หรือสัมผัส เนื้อจะกลับคล้ำลง บางองค์กลับคล้ายสำริดก็มี

พระปิดตา วัดบางกะปิ ยังเป็นพระที่มีสนนราคาค่อนข้างถูกมากๆ เมื่อเทียบกับความเป็นเลิศในพุทธคุณที่ได้รับการพิสูจน์กันมานักต่อนักแล้ว จึงนับได้ว่าเป็นพระที่น่าสะสมมากพิมพ์หนึ่งครับผม

พระเนื้อชินตะกั่ว หลวงพ่อยุ้ย วัดบางกะปิ กทม.


พิมพ์เล็กsize 1.7 x 2.8 cm
พระเนื้อชินตะกั่ว หลวงพ่อยุ้ย วัดบางกะปิ กทม. พระวัดบางกะปิ ที่รู้จักกันโดยทั่วถึงก็คือพระกรุเนื้อชินสนิมแดง และพระปิดตาเนื้อโลหะที่หลวงพ่อยุ้ยท่านสร้างไว้สมัยสงครามอินโดจีน ส่วนองค์นี้หลวงพ่อยุ้ย ท่านนำพระกรุวัดบางกะปิเนื้อชินที่ชำรุดมาหล่อใหม่โดยล้อพิมพ์เดิม ลักษณะองค์พระเป็นปางมารวิชัย ประทับเหนืออาสนะฐานสองชั้น กลางฐานพระมีผ้าทิพย์ สร้างด้วยเนื้อตะกั่วเปียกทอง ไม่ได้ลงกรุเลยเรียกว่า พระกรุวัดบางกะปิ รุ่น 2 พุทธคุณเหมือนพระกรุเก่าทุกประการ พระกรุวัดบางกะปิมี 3 พิมพ์คือ พิมพ์ใหญ่,พิมพ์กลาง และพิมพ์เล็ก ทั้ง 3 พิมพ์มีรายละเอียดเหมือนกัน

ขอขอบคุณเว็บไซต์ ธรรมจักร